Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

ทัศนคติที่มีต่อคำว่า

ทัศนคติที่มีต่อคำว่า “เพื่อน”

 

                                "วันใด ฉันรู้สึกเงียบเหงา ร้าวรานใจ  

ฉันมองย้อนกลับไป บนถนนแห่งความหวัง

                                ความทรงจำเก่าเก่า น้ำใส ทะเลสวย  ดอกไม้บาน พระจันทร์เต็มดวง ลมพัดไกวยามดึก

                                เสียงนกเพรียก ฟ้ากว้าง ขุนเขาเงื้อมตระหง่าน

กุหลาบแดง แสงเทียน และรอยยิ้มของใครคนหนึ่ง

                                แล้ววันนั้น....ฉันก็ไม่เหงาอีกต่อไป....."

 

                ในขณะที่เราพูดว่า  ความเป็นเพื่อนมีอยู่ทั่วไปในสิ่งเล็ก  ๆ น้อย ๆ รอบ ๆ ตัวเรา   แต่ความสามารถของคนเราที่จะมองเห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อนในสิ่งเล็ก  ๆ น้อย ๆ นี้มีไม่เท่ากัน สาเหตุสำคัญคือการเรียนรู้และการรับรู้ที่ต่างกัน

        

                คำพูดที่ว่า  "คนเราเหมือนกันแต่ต่างกัน" หมายความว่า คนเรามีความต้องการขั้นพื้นฐานที่เหมือนกัน  แต่สติปัญญาความเฉลียวฉลาดที่ธรรมชาติให้มาต่างกัน ทำให้แต่ละบุคคลแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบรับรู้ต่อสภาวะแวดล้อมได้ไม่เท่ากัน  ทั้งนี้การเรียนรู้จะเป็นเครื่องขยายขอบข่ายของการรับรู้ของแต่ละบุคคลมากขึ้น     

ฉะนั้นการเรียนรู้และการรับรู้ที่ต่างกัน ทำให้ความคิดกว้างแคบแตกต่างกัน การเรียนรู้นี้ประกอบด้วยพื้นฐานของครอบครัว การศึกษา ตลอดจนประสบการณ์ชีวิต เช่น คนที่เติบโตมาในเมืองใหญ่  ท่ามกลางเสียงรถราอึกทึกครึกโครมจนคุ้นเคย แม้ใจหนึ่งอาจจะไม่ชอบความสับสนวุ่นวายในกรุงเทพฯ อาจปรับตัวไม่ได้ รู้สึกทนไม่ไหว หรือบางคนอาจคิดตรงกันข้ามว่ากรุงเทพฯ น่าสนุกสนานตื่นเต้นกว่าชนบทมาก  ถึงจะลำบากก็ดีกว่าอยู่ป่าอยู่เขา  ความคิดเห็นเหล่านี้  เราเรียกรวม  ๆ ว่าทัศนคติ ทัศนคติคือคุณค่าทางความคิด ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์เลือกทางที่แตกต่างกัน เพราะความคิดเห็นไม่เหมือนกัน

        

จากการที่เรามีความคิดเห็นมีทัศนคติที่ไม่เหมือนกันต่อสิ่งแวดล้อม   ตลอดจนบุคคลต่าง  ๆ  ที่เข้ามาในชีวิต  หรือการรับรู้ประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกันไป  เป็นผลให้ทัศนคติที่เราแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบออกไปไม่เหมือนกัน  ทัศนคติในการให้ความเป็นเพื่อนก็เช่นกัน  เป็นปฏิกิริยาภายในที่เกิดขึ้นจากทัศนคติของแต่ละบุคคล เราจะเห็นว่าคนบางคนสามารถจะให้ความเป็นเพื่อนกับใคร ๆ ก็ได้ บางคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเป็นเพื่อนใครต่อใครไปหมด บางคนอยากให้ความเป็นเพื่อนแต่ให้ไม่เป็นหรือแสดงออกมาไม่เป็น

         

โดยพื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์แล้ว  มนุษย์เป็นสัตว์เมืองต้องการอยู่อาศัยเป็นหมู่เป็นเหล่า  ต้องการพวกพ้อง ต้องการคบหาสื่อสัมพันธ์ เพื่อช่วยเหลือเจือจุนและพึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่มีใครสามารถอยู่ตามลำพังได้  แต่ความสามารถในการให้ความเป็นเพื่อนแตกต่างกัน  เนื่องมาจากทัศนคติที่เรามีต่อตนเอง  และทัศนคติที่เรามีต่อผู้อื่น  และที่สำคัญคือความสามารถในการสื่อสารมีไม่เท่ากัน เราอาจแบ่งทัศนคติออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ

         

1. ทัศนคติที่มีต่อตนเอง  เราอาจกล่าวได้ว่าการที่คนคนหนึ่งจะมีทัศนคติต่อคนอื่นได้ จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองก่อน ทัศนคติที่ดีต่อตนเองก็คือ ความพึงพอใจและการยอมรับในตนเองในฐานะของคนคนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อมั่นในตนเองว่า  เราเป็นคนดีที่ไม่เคยทำตัวเป็นภัยสังคม  เป็นคนจริงใจซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่น  เป็นบุคคลที่มิจิตใจดีงามและคิดอยากช่วยเหลือคนอื่น เราเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี โดยมีความเข้าใจคำว่า "อกเขาอกเรา"  ไม่อ่อนไหวไปกับคำตำหนิติเตียน  การนินทาว่าร้ายของผู้อื่น  มีความอดทนอดกลั้น เป็นผู้รู้จักกาลเทศะ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

         

ที่สำคัญคือ ยอมรับสถานการณ์ของความผิดพลาดของแต่ละบุคคลว่า เราคือปุถุชนที่อาจกระทำความผิดบ้างเป็นธรรมดา  เมื่อรู้ว่าผิดก็ต้องยอมรับผิดเพื่อการแก้ไขปรับปรุง  ไม่คิดว่าตนเองดีกว่าใคร ๆ จนกลายเป็นความดื้อรั้น เป็นทิฐิ หรือปล่อยให้อารมณ์อิจฉาริษยาอาฆาตพยาบาทเข้ามามีอิทธิพลต่อบทบาทการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา  จนกลายเป็นคนที่มีสภาพจิตไม่ปกติ หรือไม่มีความสุขในชีวิต

         

คนที่มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง  คือคนที่สามารถจะเป็นเพื่อนที่ดีของตนเองได้  มีความเชื่อใจและไว้วางใจในตนเอง และมีความพร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับใคร ๆ ก็ได้

        

2. ทัศนคติที่มีต่อผู้อื่น   เมื่อคนคนหนึ่งมีทัศนคติดีต่อตนเองก็จะเกิดความสบายใจ  มีความไว้วางใจในตนเอง มีความหนักแน่นในจิตใจ ทำให้สภาวะทางจิตมีความสมดุล เรียกว่า  “ผู้มีสุขภาพจิตดี”  คนที่มีสุขภาพจิตดีจะเป็นผู้มีอารมณ์แจ่มใสเป็นมิตรแก่ผู้พบเห็น มีความเข้าใจและไม่ถือสาใคร  ทั้งยังสามารถให้อภัยในข้อบกพร่องของผู้อื่น การที่เราจะคบหาใครสักคนเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายได้ หมายความว่า  เราสามารถจะยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น หรือช่วยตักเตือนปรับปรุงแก้ไขเพื่อนได้ในบางเรื่อง บางกรณีที่ไม่ร้ายแรงหรือถ้าเขาแก้ไขอุปนิสัยข้อเสียเล็ก  ๆ น้อย ๆ ของเขาไม่ได้ ถ้าเขาดีต่อเรา เราก็ดีต่อเขาได้

        

การยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น  เป็นพื้นฐานของความเป็นเพื่อน เป็นการให้ความนับถือในขอบข่ายของความเป็นคนคนนั้น เป็นการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของคนคนนั้น

        

บุคคลที่มีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลอื่น จะให้การยกย่องยอมรับไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ที่ยากจนหรือร่ำรวย  มีการศึกษาสูงหรือการศึกษาน้อย  มีความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในส่วนบุคคล  ไม่นำสิ่งปรุงแต่ง ที่เรียกว่า "ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือวัตถุมาวัดคุณค่าของความเป็นเพื่อน" มีความตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีส่วนของความดีมากกว่าความเลวและคนเราทุกคนอยากเป็นคนดี อยากทำความดี ไม่อยากทำตัวเป็นภัยแก่สังคม แต่สถานภาพ  โอกาสและสิ่งแวดล้อม  อาจไม่เอื้ออำนวยให้เขาทำอย่างที่อยากทำหรืออยากเป็น

                เพราะสิ่งที่แต่ละคนประพฤติปฏิบัติ   ถ้าไม่เลวร้ายหรือผิดกฎหมายบ้านเมือง เราก็ควรเข้าใจและให้อภัย  ให้ความเมตตาต่อความผิดพลาดนั้น ๆ และพร้อมจะให้ความดีงาม  ให้ความเป็นเพื่อนกับเขา เพราะในความเป็นเพื่อนนั้นเพียงความเข้าใจและกำลังใจก็เพียงพอแล้ว

               

การสื่อสารแสดงความเป็นเพื่อน

        

การที่คนเราจะทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นนี้ยังไม่เพียงพอ   เพราะทัศนคติเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ซึ่งถ้าไม่พูดหรือแสดงออกมา คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจรับไม่ได้ หรือการที่ไม่สามารถจะสื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ ก็จะกลายเป็นสื่อความหมายผิด ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ เหมือนอย่างที่สุภาษิตไทยชอบนำมาพูดบ่อย  ๆ  ว่า “ครูคนนี้ ปากร้ายใจดี” ในความหมายก็คือ ครูเป็นคนใจดี แต่ไม่สามารถสื่อหรือแสดงความใจดีออกมาได้ตรง ๆ อาจเป็นเพราะมีความกลัวว่า การจะแสดงความใจดีอาจเป็นการแสดงความอ่อนแอให้เด็กเห็นแล้วเด็กจะไม่กลัว  เพราะฉะนั้นจะต้องดุว่าส่งเสียงดังไว้ก่อนให้เด็ก ๆ กลัว หรือความห่วงกังวลในเด็กมีมาก ทำให้ต้องเข้มงวดกวดขันกับเด็ก เพราะเกรงว่าศิษย์จะไม่ได้ดี

        

พฤติกรรมนี้ถ้าเด็กหรือคนทั่วไปเข้าใจก็ดี  ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจก็จะตั้งป้อมเกลียดเอาไว้ก่อน  พ่อแม่ก็เช่นกัน การแสดงความรัก การพูดเพราะ ๆ การโอบกอดลูกในยามที่เขาเศร้าใจเสียใจ พ่อแม่ส่วนใหญ่แสดงไม่เป็น ไม่กล้าคิด คิดไปว่าลูกจะได้ใจ  ประเดี๋ยวใครจะคิดว่าพ่อแม่อ่อนแอหรือแม่โอ๋ลูกเกินไป ทั้ง ๆ ที่ความจริงการแสดงความรัก การเอาอกเอาใจลูกบ้างไม่ใช่ความผิด  และเด็ก ๆ ที่สุขภาพจิตดีก็เติบโตจากการแสดงความรักความเข้าใจอย่างอบอุ่นรักใคร่จากพ่อแม่ทั้งนั้น

               

เพราะฉะนั้น ในการให้ความเป็นเพื่อนนั้นต้องประกอบด้วยการมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและต่อผู้อื่น  ทั้งมีความพร้อมที่จะแสดงและสื่อความหมายในความเป็นผู้มีไมตรีจิตออกมาให้ปรากฏด้วย

               

การให้ความเป็นเพื่อนเรียนรู้และฝึกฝนได้

        

 ถึงแม้ทัศนคติจะมีผลให้เกิดความแตกต่างในตัวบุคคล    ในการให้ความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่นและกับสิ่งแวดล้อม  แต่การให้ความเป็นเพื่อนเป็นสิ่งที่เรียนรู้และฝึกฝนกันได้ถ้าต้องการ   ลองพิจารณาตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่น การยิ้มให้ใครสักคนก็เป็นการเปิดประตูต้อนรับความเป็นเพื่อน  ซึ่งผู้ที่พบเห็นจะรับรู้ทันทีว่า  เรากำลังหยิบยื่นความเป็นมิตรให้

       

เมื่อคนคนหนึ่งเขายิ้มให้เรา แรก ๆ เราอาจลังเลใจว่า เขาหวังอะไรจากเราหรือเปล่านะ เราจะยิ้มตอบไปดีไหมจะเห็นได้ว่าการยิ้มให้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน เพราะฉะนั้นการยิ้มตอบไป เพื่อรับไมตรีส่งมา..ถ้าการยิ้มเป็นบันไดขั้นแรกของการฝึกฝนในการให้ความเป็นเพื่อน การยิ้มตอบคือการยอมรับความเป็นเพื่อนของผู้อื่น จึงเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างตัวเรากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบด้าน

 

                ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะยิ้มให้กับตัวเอง ยิ้มให้ดอกไม้  กับสายลม แสงแดดหรือถ้ายิ้มให้ใครแล้ว เขาไม่ยิ้มตอบ จะมีใครกล่าวหาว่าเราบ้าหรือเปล่า?…รอยยิ้มทำให้โลกสว่างไสว โดยจะยิ้มกับอะไร  กับใคร ๆ ก็ได้ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร บุคคลที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี ใคร ๆ ก็อยากจะเข้าใกล้ทำความรู้จัก อย่างน้อยที่สุด พวกเราทุกคนก็พอใจจะเห็นคนที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าคนที่มีใบหน้าบึ้งตึงโศกเศร้าเจ้าทุกข์

               

หากเราส่งยิ้มให้ เขาไม่ยิ้มตอบ ไม่เป็นไร ไม่เสียหาย ไม่เสียเงินทองหรือว่าเสียหน้าตรงไหน  คนที่เรายิ้มให้อาจจะอารมณ์ไม่ดีปล่อยเขาไปไม่ถือสา ให้ความเมตตาให้อภัย ไม่ปล่อยให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนอื่นมารบกวนอารมณ์ของเรา

        

การฝึกฝนตนเองให้มีสมาธิ มีความแน่วแน่ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ โดยเฉพาะในขณะนี้ ขณะที่เราต้องการจะฝึกฝนในการให้ความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่น โดยเริ่มต้นที่ส่งยิ้ม สร้างรอยยิ้มบนใบหน้า ทำแล้วตัวเรารู้สึกสบายใจ เพราะรู้ถึงเจตนาที่ดีในการส่งยิ้ม การถูกปฏิเสธหรือการที่เขาไม่ยิ้มตอบ จึงไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งไม่ดี เจตนาเราดี แต่จังหวะเวลาขณะนั้น บุคคลนั้นอาจไม่พร้อมจะรับไมตรีของเรา เราต้องให้ความเข้าใจ ให้ความเมตตา และให้เวลาที่เขาจะคุ้นเคยกับรอยยิ้ม และตอบรับไมตรีของผู้ที่ส่งไปให้

         

เช่นกัน บางครั้งเราแอบยิ้มให้ตัวเองเมื่อมีอารมณ์แจ่มใสเบิกบาน  คิดถึงเรื่องน่าขันขึ้นมาเงียบ ๆ ยิ้มรับกับธรรมชาติรอบด้านเพื่อเป็นการแสดงความชื่นชม พึงพอใจในธรรมชาติ ที่ให้ความรู้สึกที่ดีงามกับเรา ทำให้รู้สึกคลายเศร้า ไม่เหงา เพราะเรามีเพื่อน และเป็นเพื่อนกับธรรมชาติรอบตัวเช่นกัน

         

แล้วถ้าเราเป็นบุคคลที่เขาส่งยิ้มมาให้ล่ะ การรับไมตรียิ้มตอบไม่ได้หมายความว่า เราเป็นคนง่ายหรือให้ท่า แต่หมายความว่า เราเข้าใจในความเป็นผู้มีไมตรี มีมรรยาทของเขา และเรายิ้มตอบให้โดยมรรยาท และจากการส่งยิ้มให้ เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อน ซึ่งจะพัฒนาไปขนาดไหน อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายละเอียดต่อไป

       

….และถ้าความต้องการที่จะให้ความเป็นเพื่อนเป็นขั้นตอนแรก การฝึกฝนที่เราทำได้ก็คือ การยอมรับความเป็นเพื่อนของผู้อื่นก็เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างตัวเรากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้วเราก็สามารถให้ความเป็นเพื่อนได้กับ ทุก ๆ คน

 

 
 
  Counter 203,494
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา