Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

การเป็นมิตรปลอบจิตผู้เดียวดาย

การเป็นมิตรปลอบจิตผู้เดียวดาย

               

                “ในวันหนึ่งของการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งร่างกายและจิตใจฉันอยากจะมีใครสักคนเอื้อมมือมา และบอกฉันว่าเขาเข้าใจถึงความท้อแท้ของฉัน บางทีเขา ไม่จำเป็นต้องพูดหรอก เพียงสบตาที่ฉายแววอ่อนโยน เพียงมีเขาอยู่ใกล้ ๆ แม้เขาอาจไม่เข้าใจ  ไม่เป็นไร ขอเพียงมีใครสักคนที่ทำให้ฉันตระหนักว่า…ฉันมิได้อยู่เพียงลำพังในโลกนี้"

               

                ในวาระที่ผู้คนมากมายต้องเผชิญกับความรู้สึกว้าเหว่เดียวดาย   ที่อาจนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวัง  การขาดการติดต่อสัมพันธ์กลายเป็นความกลัว  กลัวว่าจะไม่เป็นที่รัก ที่ต้องการของใคร ๆ ความกลัวที่อาจกระตุ้นให้เซลล์ทุกส่วนในร่างกายเรียกร้องขอความเห็นใจ ขอความเข้าใจออกมาด้วยอาการทางร่างกายมากมาย เช่น อาการแพ้ และอาการของโรคหัวใจ  โรคปวดศีรษะไมเกรน  โรคกระเพาะอาหาร  ไปจนถึงอาการทางประสาท ความหวาดระแวง หรือความหวาดกลัวที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปตามลำพัง

                นั่นเพราะความรักเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับจิตใจคนเรา และเมื่อใดที่ความตาย ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เอื้อมมือมาคว้าอาหารของหัวใจไปจากเขา  เราจะมีวิธีใดบ้างที่จะสามารถ "สื่อสายใยแห่งความรักกับ หัวใจไว้ด้วยกัน”

         

ความเงียบเหงาเดียวดายอาจจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ได้  หากบุคคลนั้นไม่สามารถจะเผชิญกับความรู้สึกนั้นได้ต่อไปอีก   ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายหรือความกลัวที่จะต้องอยู่คนเดียวอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้หากว่าบุคคลนั้นเกิดความเหงาจนถึงขีดสุด ความรู้สึกที่ว่า ชีวิตนี้ไม่มีความหมายต่อไป....

         

ผู้ใช้บริการสุภาพสตรีรายหนึ่งหลีกเลี่ยงความรู้สึกเดียวดายในช่วงที่สามีของเธอจากไปโดยบอกว่า    “ดิฉันรู้สึกกลัว....กลัวที่จะต้องกลับเข้าบ้าน  แล้วพบกับความว่างเปล่า  หลายครั้งเมื่อเข้าไปในบ้านแล้ว  รู้สึกว่าความเจ็บปวดมันแล่นผ่านแปลบเข้าถึงหัวใจ  เมื่อตระหนักว่า...เราสองคนไม่ได้อยู่ด้วยกันต่อไป...แล้วความรู้สึกที่จู่โจมเข้ามา อย่างกระทันหันก็คือ...อยากเอื้อมมือไปแล้วสัมผัสเขา...และไม่อยากให้เขาจากไป อีกครั้งเลย  เดี๋ยวนี้รู้สึกว่า  มันเป็นอย่างไรที่จะต้องยืนอยู่ตามลำพังกับความทรงจำ และ  ความคาดหวัง....จะมีใครบ้างที่เข้าใจ...ว่าดิฉันปรารถนาอ้อมแขนของเขามากแค่ไหน ในช่วงกลางวันท่ามกลางความเร่งรีบของชีวิตการทำงาน สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์รอบ  ๆ  อาจดูดซับพลังงานและความคิดของเราไปหมด แต่ทันใดที่ตะวันตกดิน เราจะรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังท่ามกลางความสงัดเงียบในห้องนอน…”

         

สาวน้อยผู้หนึ่ง  ซึ่งต้องจากบ้านเกิดจากครอบครัวมาเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เขียนจดหมายถึงศูนย์ฮอทไลน์ในตอนหนึ่งว่า “....ทันใดที่ไฟดับลง  ความรู้สึกมี่ว่าตัวเอง นอนอยู่ในห้อง ในกล่องแคบ ๆ มันเป็นความรู้สึกว่า กำแพงห้องมันแคบเข้า ๆ มาล้อมกรอบตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความกลัว...กลัวว่า...เราจะถูกกำแพงกลืนไว้ตามลำพัง มันอยากลุกขึ้นร้องกรี๊ด  ๆ  แล้ววิ่งแหกกำแพงออกไป ทำยังไงดีพี่…หนูเหงา..เหงา...จนแทบขาดใจ...ทำไมถึงจะข่มตาให้หลับลงได้....บางครั้งก็คิดไปว่า...ถ้าหลับไป...แล้วไม่ต้องตื่นขึ้นมาอีกเลยก็ดี…"

                การดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพังหรือห่างไกลคนที่เป็นที่รักและคุ้นเคยอาจเป็นช่วงเวลาของความเจ็บปวดระยะหนึ่ง แต่ความรู้สึกว้าเหว่เดียวดาย ปราศจากผู้หนึ่งผู้ใดในโลกจะให้ความรัก ความใส่ใจ มันก็คล้ายกับ "การตายทั้งเป็น" นั่นเอง

                เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ได้สัมผัสกับความเงียบเหงาเดียวดายมาก่อน ความรู้สึกซาบซึ้งต่อคำว่า      "เพื่อน” จึงดูสว่างไสวสวยงามและอบอุ่น โดยเฉพาะชีวิต ดูมีความหมายและงดงามเมื่อได้ตระหนักว่า  ตัวเราเป็นที่รักของผู้อื่น

          

"ความเงียบเหงาเดียวดาย"    โดยความจริงเป็นเรื่องของ   "นิยายรัก"  ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนคนหนึ่งไม่สามารถจะเป็นตัวของเขาเองได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง  เพราะฉะนั้นถ้าปราศจากความเงียบเหงาเดียวดาย คนเราก็คงไม่ผ่านประสบการณ์ของความต้องการการตอบสนองในความรัก    และไม่ได้ตระหนักและเข้าใจถึงความรู้สึกที่ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักเช่นกัน

         

การอยู่อย่างเดียวดายตามลำพัง หมายความว่า เราสร้างความแตกต่างจากคนอื่น  โดยเราได้ผ่านพบประสบการณ์ของการรอคอย  การแสวงหา  การได้ตระหนักถึงคำว่า  "มิตรภาพ"  และได้เคยใกล้ชิดกับใคร ๆ มาก่อน  มันอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกที่สมบูรณ์แบบนัก   แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่สามารถเป็นพลัง เป็นความเชื่อมั่นในตนเองที่จะกลายเป็นรูปแบบที่เรานำมาใช้ปรับตัว และถึงวันที่เราได้เติบโตขึ้นมาจากความรู้สึกนั้นโดยเราได้ทำความคุ้นเคยกับความรู้สึกนั้นแล้ว และความเดียวดายไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของเราต่อไป

               

การช่วยผู้ตกอยู่ในความทุกข์ใจ

         

เราควรจำไว้ว่าโดยส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบความยุ่งยาก   หรือเรียกว่าผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ใจ หากเขาอยู่ดีมีความสุข โอกาสที่จะใช้บริการมีน้อยมาก เมื่อเขาทุกข์จึงต้องมองหาที่พึ่งพิง ดังนั้นผู้ให้บริการต้องเข้าใจถึงความทุกข์ใจก่อนในเบื้องต้น        

ความหมายของความทุกข์ใจ ก็คือ สภาวะซึ่งบุคคลหนึ่งกำลังประสบกับความสูญเสีย  ต้องพลัดพรากจากบุคคลหรือสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก เกิดความรู้สึกอ้างว้าง เดียวดาย ขาดที่พึ่งพิง ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และไร้ประโยชน์

 

                สาเหตุของความทุกข์ใจ  สาเหตุของความทุกข์ใจนั้นมีที่มามากมาย และอาจเกิดได้จากกรณีต่อไปนี้

                1. ความตาย ได้แก่ เป็นการสูญเสียที่ถาวร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ และความผูกพันธ์อันลึกซึ้ง ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแสดงออกทางอารมณ์ในระดับต่าง ๆ ได้ อาจเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี และเกรงว่าจะต้องตายก่อนวัยอันควร กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง

                2. การสูญเสียเพื่อน ได้แก่ เด็ก ๆ ถูกแยกจากเพื่อนในกรณีที่ครอบครัวย้ายที่อยู่ เพื่อนย้ายที่อยู่ ในบางครั้ง ทางบ้านห้ามคบเพื่อนบางคน การสูญเสียสัตว์เลี้ยง ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อน การถูกปฏิเสธจากเพื่อน ๆ

                3. การสูญเสียอวัยวะบางส่วน ได้แก่ จากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด (เช่น การถูกตัดแขน ตัดขา ตาบอดหญิงที่ได้รับการผ่าตัดมดลูก และหมดโอกาสที่จะมีบุตรได้ อวัยวะบางส่วนที่ไม่สามารถจะใช้การได้  เนื่องจากเป็นอัมพาตหรือเป็นโรคบางลักษณะ

                4. การหย่าร้าง ได้แก่ ปฏิกิริยาภายหลังจากการหย่าร้างของผู้ที่หย่าด้วยความสมัครใจ บุคคลที่ถูกแรงผลักดันนำไปสู่การหย่าร้างโดยไม่สมัครใจไม่เต็มใจ ลูก ๆ มักจะได้รับผลกระทบกระเทือนจากความทุกข์ และปฏิกิริยาทางอารมณ์ภายหลังจากการหย่า เรียกว่า "ตกเป็นเหยื่อของการหย่าร้าง"

                5. การเกษียนอายุการทำงาน ได้แก่ สิ่งที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำ 30-40 ปี  ต้องสิ้นสุดลง ทำให้รู้สึกเป็นคนไร้ประโยชน์ ไร้ค่า เช่น ปราศจากความหวัง สำหรับเป้าหมายใหม่ในการที่จะทำงานต่อไป

                6. ความล้มเหลว ได้แก่ จากการเรียน เช่น สอบตก ได้คะแนนน้อย สอบไม่ติดอันดับ ในการทำงาน เช่น ตกงาน ว่างงาน พลาดตำแหน่ง  ในชีวิตสมรส เช่น หย่าร้าง ถูกทอดทิ้ง ผิดหวัง ในเรื่องการงวานหรือการเงิน เช่น ล้มละลาย มีหนี้สิน รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้งจากครอบครัว หมดสิ้นทุกสิ่ง ติดเชื้อเอชไอวีหรือป่วยเป็นเอดส์ขั้นสุดท้าย ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

                7. การอับอายขายหน้า ได้แก่ รู้สึกเสียหน้าต่อหน้าสาธารณชน ไม่สามารถประสบผลสำเร็จตามความคาดหมายของตนเองได้

 

                การต่อสู้กับความทุกข์   ในการต่อสู้กับความทุกข์ของเพื่อนเพื่อที่จะฟื้นตัวเอาชนะความสูญเสียและเพิ่มพูนทัศนคติที่ดีงามในการดำรงชีวิต  แต่ละบุคคลต้องทำการต่อสู้กับความเจ็บปวดทุกข์โศกนี้ด้วยตัวของเขาเอง  และปฏิกิริยาต่อไปนี้ที่เราสามารถจะคาดหมายได้โดย

                1. อาการช็อก  โดยมีอาการเกือบสิ้นสติ มึนชา รู้สึกเหมือนไม่ใช่ความจริง

                                ก. ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือไม่ควรปกป้องเพื่อน หรือรับเอาความรู้สึกนั้นมาเป็นของตน

                                ข. ควรจะช่วยสนับสนุนเป็นกำลังใจในกิจวัตรประจำวัน เช่น

                                - พูดคุยไต่ถามเรื่องราวกิจวัตรประจำวัน เช่น การกินอยู่หลับนอน

                                                - เตรียมแผนงานศพ

                                                - พาไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำ

 

                2. การปฏิเสธโดยการแสดงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ  การแสดงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ พิจารณาได้จากการใช้คำพูด ได้แก่

                                ก. การไม่ยอมรับ เช่น  "มันไม่น่าจะเป็นไปได้"

                                ข. การแสดงความขมขื่น เช่น  "ทำไมเขาถึงทำกับฉันอย่างนี้"

                                ค. การแสดงความหมดหวัง เช่น  "ฉันจะอยู่โดยไม่มีเขาได้อย่างไร"

                การแสดงออกซึ่งกิริยาต่าง ๆ เช่น การทอดถอนใจใหญ่ราวกับมีภูเขาอยู่ในอก การร้องไห้ซึ่งเป็นการดีที่จะปล่อยให้คนมีทุกข์ได้ร้องไห้เสียบ้าง      การพยายามสะกดใจไม่ให้ร้องไห้นั้น  น้ำตาที่เก็บไว้อาจจะเป็นพิษได้ภายหลังซึ่งไม่เป็นการดีที่จะพยายามปกปิดการแสดงออกทางอารมณ์

 

                3. การเก็บกดอารมณ์ของบุคคล   เขาก็มีการเก็บกดอารมณ์เอาไว้   โดยเฉพาะผู้ชาย   ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการยากจะแสดงอารมณ์ออกมานั่นเป็นเพราะทัศนคติและค่านิยมทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม คนไทยเรามักจะสอนเด็กผู้ชายว่า  "เด็กเล็ก  ๆ  เท่านั้นที่ร้องไห้" หรือ "ผู้หญิงเท่านั้นที่เจ้าน้ำตา"    เขาจึงต้องกล้ำกลืนฝืนความรู้สึกเอาไว้ด้วยเกรงจะเป็นการแสดง ความอ่อนแอออกมา คนที่ไม่แสดงอารมณ์ออกมาในตอนนี้ความเก็บกดอาจจะไหลย้อนกลับไปทำปฏิกิริยากับร่างกายภายใน     หรือสะสมไว้จนเจ้าของเจ้าตัวไม่สามารถทานทนอยู่ได้ เราควรอธิบายและยอมรับการร้องไห้ของหญิงชายว่า  เป็นพฤติ กรรมทางธรรมชาติในการปลดปล่อยความเครียด    

  

4.  การพูดระบายความในใจโดยการเล่าเรื่อง  เมื่อเพื่อนเล่าเรื่องจะพบว่าเมื่อเขามีทุกข์มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่คิดถึงสิ่งที่ได้พูด   ได้ทำไปแล้วเขาจะพบว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นสภาวะของอารมณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นและเขาไม่สามารถแก้ไข  หรือปกป้องเหตุการณ์นั้น  ๆ  ได้ และเขาต้องการจะทำอะไร หรือควรทำอะไรได้มากกว่านั้น การพูดถึงความรู้สึกและการกระทำครั้งแล้วครั้งแล้วเล่า  เป็น กระบวนการให้ยาตัวเองของเขา ซึ่งพยายามบอกเล่ากับตนเองว่าเขาได้พยายามอย่างดีแล้วในสถานการณ์นั้น ๆ

         

5. ความรู้สึกขาดที่ยึดเหนี่ยว  ทำให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่เดียวดาย ในสถานการณ์บางอย่างที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ มักจะทำให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างขาดที่พึ่งพิงทำให้คนเรารู้สึกไม่พร้อมที่จะเผชิญกับอนาคตและบุคคล ซึ่งมีความรู้สึกอ้างว้างขาดที่พึ่งพิงนี้มักจะต้องการเพื่อนเป็นอย่างมากในขณะนี้ บุคคลที่ขาดเพื่อนนั้น หากตกอยู่ในความว้าเหว่เดียวดายเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจกลายเป็นเหยื่ออารมณ์ของตนเอง ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การเบี่ยงเบนของพฤติกรรมได้

         

6. ความกระวนกระวายใจ จะแสดงออกมาได้หลายลักษณะ เช่น เกิดความตึงเครียดและใจน้อย ขาดสมาธิ กระสับกระส่าย เกิดความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล รู้สึกว่าปราศจากผู้ช่วยเหลือ และไม่มีความหวังใด ๆ กลัวว่าตนจะเสียสติไป

 

                7. ความรู้สึกผิด เมื่อบุคคลรู้สึกระอายในการกระทำของตนเองจะแสดงออกได้โดยในหลายกรณีความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับความทุกข์ใจ เช่น "ฉันควรจะพาพ่อไปหาหมอก่อนหน้านี้นานแล้ว”                  "ทำไมฉันถึงได้พูดอะไรที่ไม่ดีอย่างนั้นนะ ?"  ตัวอย่างจากกรณีที่เกิดขึ้นจากหย่าร้าง  เช่น  "ทำไมฉันถึงไม่พยายามให้มากกว่านี้ “ "ฉันควรจะให้อภัยเขามากกว่านี้!"  "ฉันควรจะหย่าเสียตั้งนานแล้ว!" หรือบางคนอาจจะพร่ำพรรณนาถึงคุณงามความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น "ไม่น่าตายเลย เขาเป็นคนดีจริง ๆ !!!"  "ทำไมอายุสั้นแบบนี้ !?!"

         

8. ความขมขื่นและความเคืองแค้น  เมื่อบุคคลมีความรู้สึกในทางลบ เช่น ขมขื่น หรือเคืองแค้นอาจจะเกิดอาการคือ

                                ก. ความรู้สึกท้อแท้คับข้องใจ (Frustration) ในเรื่องที่เกี่ยวกับความตายโดยไม่มีใครช่วยเหลือได้  เมื่อคนเราเกิดความคับข้องใจ  เขามักจะโยนความผิด (Projection) หรือกล่าวโทษให้คนอื่น ๆ เช่น

                                                - การกล่าวหาว่าแพทย์ไม่ทำการรักษาอย่างเต็มที่ หรือรักษามากเกินกว่าเหตุ

                                                - การกล่าวหาพยาบาลรวดเร็วไม่พอ และไม่ให้การช่วยเหลือทันท่วงทีในยามที่เขาต้องการ

                                                - การกล่าวหาเพื่อน ไม่ให้ความสนใจช่วยเหลือเท่าที่ควร

                                                - การตัดพ้อต่อว่าพระเจ้า หรือเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น "นี่มันเป็นกรรมอะไรของฉัน?"  "ทำไมสวรรค์ถึงลงโทษฉันคนเดียว?"  "ทำไมสวรรค์ไม่ช่วยฉันเลย?"  "ทำไมพระองค์ไม่ได้ยินคำอธิษฐานของฉัน?"

                                ข. ความขมขื่นและความโกรธแค้น  ซึ่งอาจมุ่งไปที่บุคคลที่เพิ่งตายจากไป เช่น "ทำไมเขาถึงมาด่วนตัดช่องน้อยทิ้งฉันไป   ในขณะที่ลูกยังเล็กอยู่และฐานะก็ไม่มั่นคง"  "ดูซิ! เวลาจะตายก็ไม่พูดสั่งเสียอะไรสักคำ!"  นั่นคือในความรู้สึกสูญเสียมักมีความรู้สึกโกรธแค้นรวมอยู่ด้วย

                                ค.ความผิดหวังในเรื่องงาน  ความคิดเห็นในกรณีที่ประสบความพลาดหวังเกี่ยวกับงาน เช่น  "นายของผมใจร้ายเขาหาทางแกล้งผมอยู่ ผมเกลียดเขา!"  "เพื่อน ๆ อิจฉาและพากันกลั่นแกล้ง!"

         

9. การวาดภาพความหวัง ขอให้หวังกันว่าคน ๆ นั้นจะกลับมารับสู่สภาพความเป็นจริง  เราควรช่วยให้เขาเริ่มจัดการเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่ มีการวางแผนกันใหม่  มีความสนใจใส่ใจในสิ่งใหม่ หันมารับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลืมสิ่งที่ได้เกิดขึ้น  สิ่งที่ช่วยเหลือนี้หมายถึงว่าเขาได้เจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจากประสบการณ์แห่งความทุกข์นั้น

         

การช่วยเหลือของเพื่อน  ในกรณีที่ผู้มีความทุกข์ใจ หน้าที่ของเพื่อน คือ

                1. อยู่เคียงข้างกับบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางโทรศัพท์หรือให้เขามาพบด้วยตนเอง

                2. ให้เขาแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ต่าง ๆ ออกมาอย่างเต็มที่

                3. อดทนตั้งใจฟัง ขณะที่เขาพูดระบายความรู้สึก

                4. ให้การยอมรับคน ๆ นั้น โดยไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเขา

                5. พร้อมที่จะไปหาเพื่อให้ความเข้าใจและให้ความเป็นเพื่อนกับความรู้สึกที่มั่นคง

                6. หลีกเลี่ยงการแสดงความสงสารอย่างเกินขอบเขต  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ถ้าบุคคลนั้น มีอาการแสดงออกซึ่งความสงสารตนเองมากอยู่แล้ว

                7. ไม่ควรจะพูดกับคนที่กำลังอยู่ในความทุกข์ว่า "คุณไม่ควรจะคิดอย่างนั้น"

                8. ปล่อยให้เขาพูดออกมาจนพอใจแล้วจึงค่อยพยายามชี้แจงถึงเหตุผลกับเขา

                9. ในขณะที่เขากำลังพยายามหาเหตุผลเป็นทางออกให้ตัวเขาอยู่นั้น  ควรจะช่วยให้เขานึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เขามีอยู่เพื่อนำมาประกอบกันให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

                10. ไม่หยุดยั้งที่จะแสดงออกซึ่งศรัทธาและความเชื่อในเพื่อนมนุษย์  ในอนาคต และในตัวของผู้มีทุกข์เอง

                11. ในกรณีที่คน ๆ นั้น ไม่สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ในเวลาที่ควรจะเป็นและยืดเยื้ออยู่ในความทุกข์ไปอีกเป็นเดือน ๆ ภายหลังจากเหตุการณ์อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์  อาจจะต้องการความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพอื่น เช่น  แพทย์  จิตแพทย์ นักกฎหมาย   กรมประสงเคราะห์ เป็นต้น

 

ข้อสังเกตที่พึงระลึกถึง  ในสภาวะวิกฤตที่อาจมีเพื่อนมาติดต่อขอความช่วยเหลือเรานั้นมักจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสูญเสีย หรือความกลัวว่าจะสูญเสีย พึงระลึกไว้เสมอว่า การสูญเสียจะมาในหลายรูปแบบ  การสูญเสียความภาคภูมิใจ  การอับอายขายหน้า การสิ้นหวัง เป็นต้น  และแม้กระทั่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ดังนั้นข้อสังเกตุต่อไปนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่เราจะให้ความเป็นเพื่อนได้นั้น จำเป็นต้องทบทวนคือ

         

1. เพื่อนของคุณได้เคยประสบความสูญเสียมาก่อน หรือเขาอาจกำลังหวาดวิตกว่าตนกำลังจะสูญเสียสิ่งของ หรือบุคคลที่มีความสำคัญต่อเขาไป

                2. เพื่อนมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย หรือความวิตกว่าจะสูญเสียในครั้งนี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างไรที่เขากำลังรู้สึกอยู่ขณะนี้

                3. จากการรับฟัง เราจะช่วยเพื่อนให้ผ่านพ้นความรู้สึกวิตกกังวลบางอย่างที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้หรือไม่

                4. เพื่อนได้เคยประสบการสูญเสียมาก่อนแล้วในอดีต ซึ่งอาจจะทำให้มีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาโต้ตอบกับสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเพื่อนมีความสามารถดำเนินการผ่านความรู้สึกสูญเสียครั้งก่อนหรือไม่      และถ้าเขายังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสูญเสียในอดีตอยู่ นั่นแสดงให้เห็นถึงว่าอาจจำเป็นจะต้องส่งต่อเพื่อนรายนั้นไปใช้บริการจากนักวิชาชีพ

         

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสีย  (Loss reaction) มักจะปรากฏออกมาในรูปแบบหนึ่งแบบใดดังได้บรรยายไว้ถึงลักษณะการแสดงออกของผู้มีทุกข์     เพราะสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก และเพื่อนของเราทุกคนเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งต้องการผู้รับฟังปัญหาเรื่องราวของเขาในฐานะปัญหาของคน  ๆ หนึ่ง  ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ไม่ใช่รับฟังตามประเภทของปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องทุกข์ทับถมระทมใจ หรือปัญหาเรื่องความรู้สึกผิด

 

 
 
  Counter 203,648
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา